ข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร
ในอดีตการพัฒนาหลักสูตรในระดับต่างๆ
มักใช้ข้อมูลพื้นฐานประกอบการพิจารณาค่อนข้างน้อย
แต่ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเฉพาะด้านเนื้อหาในวิชาต่างๆนำมาบรรจุไว้ในหลักสูตรและละเลยข้อมูลทางด้านศีลธรรม
จริยธรรม และสภาพทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และแนวโน้มสภาพสังคมในอนาคต
ทำให้การศึกษาของชาติที่ผ่านมาไม่สามารถช่วยให้คนไทยหลุดพ้นจากความฟุ่มเฟือย
การยึดถือค่านิยมผิดๆ ในการดำรงชีวิตที่ผิดๆ ไม่ช่วยให้การว่างงานลดลง
ไม่ช่วยให้แก้ปัญหาอาชญากรรมหมดไป ประเทศยังคงมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง
ยังมีคนไทยที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ ยังมีความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพยากร
เพราะฉะนั้นในการพัฒนาหลักสูตรระดับต่างๆ
ในอนาคตจะต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานในเรื่องต่างๆ จากหลายๆ แหล่งและจากบุคคลหลายๆ
ฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงมาพัฒนาหลักสูตร สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย
จิตใจ สติปัญญา และอารมณ์ เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและประเทศชาติ
หรือกล่าวโดยสรุปคือสามารถใช้หลักสูตรเป็นเครื่องมือในการสร้างสังคมใหม่ในทิศทางที่ถูกต้องได้
การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องศึกษา วิเคราะห์ สำรวจ วิจัย
สภาพพื้นฐานด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะใช้สนับสนุน
อ้างอิงในการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ดี
สามารถพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถ
และทัศนคติที่นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้
การพัฒนาหลักสูตรเป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวางมากการที่จัดหลักสูตรให้มีคุณภาพนั้นผู้พัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาข้อมูลหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียนข้อมูลเกี่ยวกับสังคม
หรือข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เพื่อที่ให้ได้ข้อมูลที่สมจริงที่สุดเพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยนักพัฒนาหลักสูตรในเรื่องต่างๆ
คือ
1. ช่วยให้มองเห็นภาพรวมว่า
ในการจัดทำหลักสูตรนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งใดบ้างและสิ่งต่างๆ
เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อหลักสูตรอย่างไร
2. ช่วยให้สามารถกำหนดองค์ประกอบของหลักสูตรได้อย่างเหมาะสม
เช่น การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร และการกำหนดเนื้อหารายวิชา ฯลฯ
3. ช่วยให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์การเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม
และมีประสิทธิภาพ
4. ช่วยเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรอันจะส่งผลให้การดำเนินการในอนาคตประสบผลดียิ่งขึ้น
ข้อมูลต่างๆ ที่นำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรนั้น
นักการศึกษาทั้งต่างประเทศ และนักการศึกษาไทย ได้แสดงแนวทางไว้ดังนี้
เซย์เลอร์ และอเล็กซานเดอร์ (Saylor
and Alexander ,1974:102-103) กล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรว่า
1. ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน
2. ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมซึ่งสนับสนุนโรงเรียน
3. ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติ
และลักษณะของกระบวนการเรียนรู้
4. ความรู้ที่ได้สะสมไว้และความรู้ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้แก่นักเรียน
ทาบา (Taba, 1962: 16-87) ได้กล่าวว่า
การพัฒนาหลักสูตรโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์จะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. สังคมและวัฒนธรรม
2. ผู้เรียนและกระบวนการเรียน
3. ธรรมชาติของความรู้
ไทเลอร์ ( Tyler,
1949:1-43) กล่าวถึงสิ่งที่ควรพิจารณาในการสร้างจุดมุ่งหมายของการศึกษา
คือ
1. ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน
ซึ่งได้แก่ ความต้องการของผู้เรียน และความสนใจของผู้เรียน
2. ข้อมูลจากการศึกษาชีวิตภายนอกโรงเรียน
3. ข้อมูลที่ได้จากข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ
4. ข้อมูลทางด้านปัญญา
5. ข้อมูลทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้
จากการรายงานของคณะกรรมการวางพื้นฐานการปฏิรูปการศึกษา (2518:20-50)
ได้กำหนดข้อมูลต่างๆ ในการกำหนดจุดมุ่งหมายทางการศึกษา
และในการจัดการศึกษาของประเภทดังนี้
1. สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
2. สภาพแวดล้อมทางประชากร
3. สภาพแวดล้อมทางสังคม
4. สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
5. สภาพแวดล้อมทางการเมือง
6. การปกครองและการบริหาร
7. สภาพแวดล้อมทางศาสนาและวัฒนธรรม
8. สภาพของสื่อมวลชนเพื่อการศึกษา
กาญจนา คุณารักษ์ ( 2521: 23-36 ) กล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้
1. ตัวผู้เรียน
2. สังคมและวัฒนธรรม
3. ธรรมชาติและคุณสมบัติของการเรียนรู้
4. การสะสมความรู้ที่เพียงพอและเป็นไปได้เพื่อการให้การศึกษา
ธำรง บัวศรี (2532:4) กล่าวถึงข้อมูลต่างๆ ในการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้
1. พื้นฐานทางปรัชญา
2. พื้นฐานทางสังคม
3. พื้นฐานทางด้านจิตวิทยา
4. พื้นฐานทางความรู้และวิทยาการ
5. พื้นที่ทางเทคโนโลยี
6. พื้นฐานทางประวัติศาสตร์
สงัด อุทรานันท์ (2532 : 46) กล่าวถึงพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้
1. พื้นฐานทางปรัชญา
2. ข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรม
3. พื้นฐานเกี่ยวกับพัฒนาการของผู้เรียน
4. พื้นฐานเกี่ยวทฤษฎีการเรียนรู้
5. ธรรมชาติของความรู้
สุมิตร คุณานุกร (2520 : 10) กล่าวถึงข้อมูลต่างๆ
ในการพัฒนาหลักสูตรจำแนกตามแหล่งที่มาได้ 6 ประการ คือ
1. ข้อมูลทางปรัชญา
2. ข้อมูลที่ได้จากนักวิชาการแต่ละสาขา
3. ข้อมูลที่ได้จากจิตวิทยาการเรียนรู้
4. ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาสังคมของผู้เรียน
5. ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
6. ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการทางเทคโนโลยี
สาโรช บัวศรี (2514 : 21-22)
ได้กล่าวว่า ในการจัดการศึกษาหรือจัดหลักสูตรต้องอาศัยพื้นฐานหลัก 5 ประการ คือ
1. พื้นฐานทางปรัชญา
2. พื้นฐานทางจิตวิทยา
3. พื้นฐานทางสังคม
4. พื้นฐานทางประวัติศาสตร์
5. พื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี
จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่นำมาศึกษาเพื่อพัฒนาหลักสูตรมีมากมายหลายด้านสำหรับประเทศไทยควรจัดลำดับข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในด้านต่างๆ
ดังต่อไปนี้
1. สังคมและวัฒนธรรม
2. เศรษฐกิจ
3. การเมืองการปกครอง
4. สภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาในสังคม
5. พัฒนาการทางเทคโนโลยีสภาพสังคมในอนาคต
6. บุคคลภายนอกและนักวิชาการแต่ละสาขา
7. โรงเรียน
ชุมชน หรือสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่
8. ประวัติศาสตร์การศึกษาและหลักสูตร
9. ธรรมชาติของความรู้
10. ปรัชญาการศึกษา
11. จิตวิทยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น