วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ข้อมูลพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และการศึกษาหลักสูตรเดิม


              ประวัติศาสตร์มีความสำคัญต่อชีวิตและการกระทำในปัจจุบัน ดังคำกล่าวที่ว่า ปัจจุบันผลของอดีตและอนาคตเป็นผลปัจจุบัน เพราะฉะนั้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และการศึกษาหลักสูตรในอดีตย่อมมีประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาและการจัดทำหลักสูตรในปัจจุบัน การศึกษาไทยกับประวัติศาสตร์ไทยมีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น เพราะเหตุการณ์ในชาติย่อมมีผลกระทบต่อการศึกษาเสมอ นักการศึกษาและนักพัฒนาหลักสูตรจึงจำเป็นต้องมีความรู้หรือข้อมูลศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติ รวมทั้งประวัติศาสตร์ควบคู่กันไป เพราะเราต้องอาศัยพื้นฐานทางประวัติศาสตร์มาช่วยในการจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรในปัจจุบัน การศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะทำให้เราเห็นภาพรวมความเจริญของชาติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม การเมือง และวัฒนธรรมในอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อการศึกษา ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้นักพัฒนาหลักสูตรต้องวิเคราะห์ว่าการจัดการศึกษาหรือการจัดหลักสูตรอย่างนั้นในสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในขณะนั้นมีความถูกต้องและเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ส่วนใดเป็นลักษณะของการจัดการศึกษาหรือจัดหลักสูตรที่ดี ส่วนใดเป็นลักษณะการจัดทำหลักสูตรที่ผิดพลาดแก่ผู้จัดทำหลักสูตร การวิเคราะห์อดีตจะช่วยเพิ่มพูนความสามารถในการวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน
              การที่ต้องมีการวิเคราะห์หลักสูตรเก่าเนื่องจากในการพัฒนาหลักสูตรนั้น  เราตั้งต้นจากสิ่งที่เรามีอยู่หรือใช้อยู่ จุดประสงค์ของการวิเคราะห์ก็เพื่อตรวจสอบหลักสูตรที่ใช้อยู่นั้นดีหรือไม่อย่างไร อะไรที่ดีอยู่แล้ว มีอะไรที่บกพร่อง ล้าสมัย หรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จุดเด่น จุดด้อย ข้อดี ข้อบกพร่องขององค์ประกอบต่างๆ ของหลักสูตรทั้งในแง่ของประสิทธิภาพของการนำไปใช้ รวมทั้งความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลในอดีตที่มีคุณค่าแก่การจัดทำหรือพัฒนาหลักสูตรปัจจุบัน ในการศึกษาประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์การศึกษาควบคู่กันไปนั้น  ธำรง  บัวศรี (2532:128) ได้แสดงความคิดเห็นว่า หากลองตั้งคำถามต่างๆ แล้วลองพิจารณาหาคำตอบจะช่วยให้เห็นความเหมาะสมของการจัดการศึกษาในขณะนั้น ตัวอย่างคำถาม  เช่น ปัญหาเศรษฐกิจสังคม และการเมืองในขณะนั้นเป็นอย่างไร การจัดการศึกษามีจุดมุ่งหมายจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่ วิธีการที่ช่วยแก้ไขปัญหาช่วยได้หรือไม่ การจัดการศึกษามีส่วนช่วยให้ยกระดับเศรษฐกิจหรือทำให้ระบบสังคมดีขึ้นหรือไม่ มีสิ่งชี้บอกใดหรือไม่ ที่แสดงว่าหลักสูตรได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลหรือพัฒนาการของผู้เรียน หลักสูตรได้ส่งเสริมการถ่ายทอดวัฒนธรรมหรือปรับปรุงวัฒนธรรมอย่างไร หลักสูตรมีการส่งเสริมจิตสำนึกในการช่วยตนเองหรือไม่  เพราะฉะนั้นถ้านักพัฒนาหลักสูตรได้ศึกษาประวัติศาสตร์ และนำประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์หาคำตอบจากคำถามเหล่านี้หรือคำถามอื่นที่มีประโยชน์เหมาะสมที่จะช่วยให้ได้คำตอบที่เป็นประโยชน์และเป็นข้อมูลในการจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ส่วนหัว

บล็อกนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาการพัฒนาหลักสูตร   โดย   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจิตรา ธงพานิช   สาขาหลักสูตรและการสอน ผู้จัดท...